ข้อมูลจากหนังสือ

การไหว้ในเชิงปฏิบัติ
เป็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นหลัง แต่ปัจจุบันคุณค่าของสิ่งเหล่านี้ได้เลือนหายไปจากสังคมไทย ดังนั้นเพื่อนำหลักปฏิบัติที่ถูกต้องและดีงามของมารยาทไทยกลับคืนสู่วิถีของคนไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่เราทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกันสืบสาน การประนมมือ หรืออัญชลี คือการแสดงความเคารพด้วยการยกฝ่ามือทั้งสองข้างมาประกบกันให้นิ้วมือและผ่ามือชิดกัน ปลายนิ้วตั้งขึ้น แขนแนบลำตัวในระดับอกและไม่กางศอก
การไหว้หรือวันทา เป็นการแสดงความเคารพด้วยการประนมมือ โดยยกฝ่ามือทั้งสองข้างมาประกบกันให้นิ้วมือและฝ่ามือชิดกัน แขนแนบลำตัวในระดับอกและไม่กางศอก ค่อยๆ โน้มตัวลงไหว้ (ค้อมส่วนหลังตั้งแต่เหนือเอวขึ้นมาจนถึงศีรษะไปข้างหน้า) ไม่ย่อเข่าและก้มศีรษะลงโดยให้ปลายนิ้วหัวแม่มือทั้งสองจรดกลางจมูกหรือหว่างคิ้ว ซึ้งการไหว้ใช้ได้กับบุคคลทั่วไปทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยการไหว้ตามมารยาทไทยจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ

การไหว้พระ 
คือ การไหว้ในระดับที่ 1 เป็นการไหว้พระรัตนตรัย (พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) พระสงฆ์ รวมทั้งปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องในพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปหรือวัดวาอารามต่างๆ เป็นการไหว้ที่ใช่แสดงความเคารพในกรณีที่ไม่สามารถกราบแบบเบญจางคประดิษฐ์ได้ โดยประนมมือขึ้นจรดหนักผาก (ไม่ยกมือขึ้นเหนือศีรษะแต่ให้ค้อมศีรษะลงมา) ให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดหว่างคิ้วส่วนปลายนิ้วชี้ให้จรดส่วนบนของหน้าผากหรือบริเวณตีนผมแล้วแนบมือให้ชิดหน้าผาก โน้มตัวให้มากและไหว้ตรงๆไม่เอียงซ้ายหรือเอียงขวา ซึ่งการไหว้จะต้องทำเพียงครั้งเดียวแล้วลดมือลงตามปกติ

การไหว้ผู้มีพระคุณหรือผู้มีอาวุโส
คือการไหว้ในระดับที่ 2 ได้แก่ การไหว้พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ครูอาจารย์ และผู้ที่เคารพนับถือเป็นอย่างสูงโดยประนมมือให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดปลายจมูก ปลายนิ้วชี้จรดหว่างคิ้วหรือหน้าผากและโน้มตัวลง ก้มศีรษะต่ำ
หมายเหตุ ในกรณียืนไหว้ให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
ผู้ชาย ให้ยืนเท้าชิด ปลายเท้าแยกจากกันเล็กน้อย โน้มตัวต่ำลง (ให้ต่ำน้อยกว่าการไหว้พระ) พร้อมกับยกมือไหว้
ผู้หญิง ยืนตรงแล้วย่อเข่าลงพอสมควร (ให้ต่ำน้อยกว่าระดับการไหว้พระ) โดยถอยเท้าข้างใดข้างการไหว้พระพร้อมกับยกมือไหว้

การไหว้บุคคลทั่วไป 
คือการไหว้ในระดับที่ 3 เป็นการไหว้บุคคลที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสโดยทั่วไป รวมทั้งผู้ที่เสมอกันด้วยการไหว้บุคคลที่เคารพนับถือหรือผู้มีอาวุโสโดยทั่วไป ต้องประนมมือแล้วยกขึ้นให้ปลายนิ้วหัวแม่มือจรดปลายคาง ปลายนิ้วชี้จรดปลายจมูกและก้มศีรษะลงเล็กน้อยเพื่อรับกับปลายนิ้วมือ โดย
ผู้ชาย ให้ยืนส้นเท้าชิด ปลายแยกจากกันเล็กน้อยโน้มตัวลง (ให้ต่ำน้อยกว่าการไหว้ในระดับที่ 2) และก้มศีรษะลงเล็กน้อยพร้อมกับยกมือไหว้
ผู้หญิง ยืนตรงแล้วย่อเข่าเล็กน้อย (ให้ต่ำน้อยกว่าการไหว้ในระดับที่ 2) และถอยเท้าข้างใด
การไหว้ผู้ที่มีเสมอกัน ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะมีวิธีปฏิบัติที่เหมือนกันคือยืนตรง ประนมมือในระดับอก ไม่ต้องยกมือที่ประนมขึ้นจรดใบหน้าแล้วก้มศีรษะลงเล็กน้อย
            เห็นได้ว่าการไหว้นั้น เป็นสิ่งที่อยู่คู่วัฒนธรรมไทยเรามาช้านาน ไปไหนมาเราก็ไหว้กัน ถ้าหากไหว้ไม่ถูกวิธีหรือการไหว้ที่ผิดๆ ก็จะส่งผลให้วัฒนธรรมการไหว้นั้นเริ่มหายไป และค่อยๆ ถูกลืมเลือน อย่าให้สิ่งที่มีค่าเลือน ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องและดีงามของมารยาทไทยกลับคืนสู่วิถีของคนไทย



อ้างอิง
เพ็ญศรี กันกา . งานมารยาทไทย . พิมพ์ครั้งที่ 2 . กรุงเทพฯ : องค์การค้าของ สกสข. , 2552.
กฤชกร เพขรนอก . มารยาทไทย . พิมพ์ครั้งที่ 1 . ปทุมธานี : สกายบุ๊คส์ , 2550.
กัลยา ธาตุเหล็ก . มารยาทไทยเชิงปฏิบัติ . พิมพ์ครั้งที่ 1 . กรุงเทพฯ : บำรุงศาสตร์ , 2555.


Creative Commons License
วัยรุ่นไทย กับมารยาทการไหว้ในยุค 4.0 โดย นางสาวอภิสมา บุญพา อนุญาตให้ใช้ได้ตามCreative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น